ติดต่อเราSiteMap

‘วิทัย รัตนากร’ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ภารกิจ-หน้าที่ นโยบายการเงินการคลังสอดประสาน

2025-07-23 HaiPress

'วิทัย รัตนากร' ผู้ว่าแบงก์ชาติ คนใหม่ เปิดภารกิจ บทบาทหน้าที่ ท่ามกลางความไม่แน่นอน ผันผวนสูง และในวันที่นโยบายการเงิน-นโยบายการคลัง ต้องสอดประสาน

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ก.ค.68 ที่ผ่านมา ได้พิจารณาเห็นชอบนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ แทนที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธปท.คนปัจจุบัน ซึ่งจะครบวาระในเดือนกันยายน 2568 นี้

บทบาทหน้าที่ ผู้ว่าแบงก์ชาติ

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยตำแหน่งผู้ว่าการยังดำรงตำแหน่งอื่นเป็น รองประธานคณะกรรมการธปท.,ประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน,ประธานคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และ ประธานคณะกรรมการระบบการชำระเงิน

มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ติดต่อกันได้ไม่เกินสองวาระ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นผู้สรรหาและเสนอชื่อไปยังคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติรับรองจึงจะทูลเกล้าฯ ไปยังพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีหน้าที่กำกับดูแลนโยบายและบริหารธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงินของประเทศ

สำหรับภารกิจที่ผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ ‘วิทัย รัตนากร’ ตัวอย่างเช่น

กำกับดูแลเสถียรภาพทั้งระบบการเงิน ตลาดเงิน อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาท เป็นต้น

กำกับดูแลเสถียรภาพสถาบันการเงิน บรรดาสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจการเงิน บัตรเครดิต สินเชื่อ เงินฝาก เป็นต้น

กำกับดูแลระบบชำระเงิน

การคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากขณะนี้มีความไม่แน่นอน และความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะภาษีทรัมป์ สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 36%

ความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งจะสร้างความผันผวนในด้านตลาดการเงิน และภาพรวมเศรษฐกิจของไทย

นโยบายการเงิน เช่น ดอกเบี้ย ต้องไปในทิศทางสอดคล้องกับเศรษฐกิจ และสอดประสานนโยบายการคลัง

ดังข้อความในอดีตเรื่อง “ศาสตร์และศิลป์แห่งการเป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง” ของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการ ธปท. ที่ว่า “ตำแหน่งของผู้ว่าการธนาคารชาตินี้ในทำเนียบราชการไทยเป็นตำแหน่งที่ต่ำกว่ารัฐมนตรี และเราจำเป็นที่จะต้องติดต่อกับรัฐมนตรีอยู่เฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายเป็นผู้กำกับการงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้ว่าการเท่านั้น ผู้ใหญ่คนอื่นในธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย เพราะฉะนั้น การติดต่อกับรัฐมนตรีเพื่อที่จะเกลี้ยกล่อมรัฐมนตรีให้ดำเนินนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งที่ธนาคารเห็นสมควรก็ย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้านโยบายต่างๆ ไม่ประสานกัน การดำเนินราชการแผ่นดินก็จะเป็นไปโดยราบรื่นมิได้

เช่น ถ้างบประมาณแผ่นดินตั้งรายจ่ายไว้เกินกำลัง จะทำให้เงินเฟ้อ ถ้าแก้ไขไม่ได้และต้องการจะรักษาเสถียรภาพไว้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็จำเป็นต้องจำกัดทางด้านการเงินด้านอื่น หมายความว่าเงินที่ปล่อยให้ชาวไร่ชาวนากับพ่อค้าอุตสาหกรรมที่จะต้องน้อยลงไป จะต้องไปหดเครดิตทางธนาคารพาณิชย์ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็อาจจะเสียหาย นี่เป็นเรื่องที่เราต้องพูดกับรัฐมนตรีแทบทุกปี

ถ้าเราไม่สามารถที่จะเกลี้ยกล่อมท่านได้ หน้าที่ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะด้อยลงไป ความรับผิดชอบและประโยชน์ที่เราจะทำให้ก็จะเสียหายไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ในการที่จะติดต่อกับรัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้มีความเชื่อถือให้รัฐบาลหรือบุคคลในรัฐบาลเชื่อ ถือว่าเราไม่ได้เห็นประโยชน์ของส่วนตัว ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เห็นแก่ประโยชน์ของแผ่นดิน”

ทั้งนี้ นายวิทัย รัตนากร จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 22 และเป็นลำดับที่ 25 ของไทย โดยจะเริ่มการทำงานในตำแหน่ง ผู้ว่าแบงก์ชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป

คำปฏิเสธ

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 กรุงเทพพาณิชย์รายวัน    ติดต่อเรา SiteMap