2025-07-18 HaiPress
‘กกพ.’ เคาะ 3 ทางเลือกค่าไฟงวดสุดท้ายปีนี้ ต่ำสุดตรึงต่อ 3.98 บาท แม้ปัจจัยบวกท่วมท้นกดค่าไฟได้อีก ชี้ต้องตุนเงินทยอยจ่ายหนี้ค้างกฟผ. - ปตท.อีก 81,156 ล้านบาท ส่วนภาครัฐ จะสั่งหั่นราคาต่ำกว่า 3.98 บาทอีกหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับกฟผ.ยอมแบกหนี้เพิ่มอีก พร้อมแจงแนวโน้มค่าไฟ 3.70 บาท ได้เมื่อไร?
นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกพ.มีมติให้เปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าสำหรับงวด ก.ย. – ธ.ค. 68 เป็น 3 กรณี ตั้งแต่ตรึงค่าไฟฟ้าอัตราเท่างวดปัจจุบัน (พ.ค. – ส.ค.) หน่วยละ 3.98 บาท ถึงสูงสุดหน่วยละ 5.10 บาท โดยกกพ.เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 17 – 28 ก.ค. 68 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอัตราใหม่อย่างเป็นทางการต่อไป
“ค่าไฟงวดใหม่นี้ ต้องบอกว่า มีแต่ข่าวดีเข้ามาทำให้ทิศทางค่าไฟงวด ก.ย. – ธ.ค. 68 ลดลง เช่น ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยกลับมาสู่ภาวะปกติเท่ากับก่อนวิกฤตราคาก๊าซธรรมชาติ ราคาพูลก๊าซอยู่ที่ 299 บาทต่อล้านบีทียู ลดลง 14 บาทต่อล้านบีทียู เทียบกับเดือนก่อน ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 1.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าช่วงปลายปีมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งราคาถ่านหินยนำเข้า ราคาสปอต แอลเอ็นจีลดลบงทั้งหมด มีเพียงน้ำมันเจา ที่ปรับขึ้นเล็กน้อย ที่ 6% แต่เราใช้น้อย”
สาเหตุที่กกพ. ยังไม่สามารถประกาศปรับลดค่าเอฟทีและค่าไฟได้ทันที เพราะว่ามีภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงคงค้าง (เอเอฟ) ที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เหลือ 66,072 ล้านบาท และการจัดหาก๊าซธรรมชาติของกฟผ.อีก 3,000 ล้านบาท และปตท.อีกกว่า 12,000 ล้านบาท รวมแล้วประมาณ 15,084 ล้านบาท รวมทั้ง 2 ยอด 81,156 ล้านบาท เราจึงต้องหาจุดสมดุลราคาที่เหมาะสม ให้ผู้ผลิตไฟฟ้าอยู่ได้ และประชาชนรับได้เช่นกัน”
สำหรับเงื่อนไขทั้ง 3 กรณีประกอบด้วย กรณีแรก ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบัน หน่วยละ 3.98 บาท เป็นการทยอยคืนหนี้เอเอฟให้กฟผ.เดือนละ 7,072 ล้านบาท จากยอดหนี้รวม 66,072 ล้านบาท แต่ยังไม่คืนหนี้ในส่วนการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติของปตท. และกฟผ.ยอดหนี้รวม 15,084 ล้านบาท กรณี 2 ปรับขึ้นค่าไฟเป็นหน่วยละ 4.87 บาท เป็นการทยอยจ่ายหนี้ค่าเอเอฟกฟผ.ทั้งหมด 66,072 ล้านบาท บาท แต่ยังไม่คืนหนี้ในส่วนการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติของปตท. และกฟผ.ยอดหนี้รวม 15,084 ล้านบาท กรณี 3 ปรับขึ้นค่าไฟเป็นหน่วยละ 5.10 บาท เป็นกรณีที่ชำระคืนหนี้ทั้งหมดของกฟผ. และปตท. รวมทั้งสิ้น 81,156 ล้านบาท
ส่วนกรณีหากรัฐบาล หรือกระทรวงพลังงาน ต้องการให้ปรับลดค่าไฟงวดใหม่นี้ให้ต่ำกว่างวดปัจจุบัน โดยให้ทยอยจ่ายหนี้กฟผ.เหลือเดือนละประมาณ 5,000 ล้านบาทเท่ากับงวดปัจจุบันนั้น ประเด็นนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับภาคนโยบาย หรือขึ้นอยู่กับความยิมยอมของกฟผ. ที่ต้องแบกรับภาระหนี้ต่อไป เพราะหน้าที่ของกกพ.มีหน้าที่รักษาสมดุลในอัตราที่เหมาะสมที่สุด เพราะอัตราใหม่ที่กกพ.คำนวณ พิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของกฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะทุกหนี้ที่เกิดขึ้นกฟผ. ต้องจ่ายดอกเบี้ย ตอนนี้ทั้งกฟผ.และปตท.ต้องแบกรับไว้
นอกจากนี้ในอนาคตยังมีเรื่องไม่คาดคิดจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก และความขัดแย้ง สงครามทางด้านตะวันออกกลางที่อาจกลับมาอีกเมื่อไรก็ได้ กกพ.จึงมองว่า อัตรานี้เป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว ขณะที่แนวโน้มงวดถัดไป (ม.ค. – เม.ย.) จะเป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ต้องติดตามสถานการณ์ราคาแอลเอ็นจี สถานการณ์ความไม่สงบในต่างประเทศ และความต้องการใช้ไฟในช่วงปลายปีที่คาดว่า ลดลง
นายพูลพัฒน์ ได้ตอบข้อซักถามถึงความเป็นไปได้กรณีอัตราค่าไฟลดลงไปถึงหน่วยละ 3.70 บาทเมื่อไรนั้น กรณีทางกระทรวงพลังงาน กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังเร่งดำเนินการหาแนวทางอยู่ เป็นประเด็นที่ต้องหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป