ติดต่อเราSiteMap

5 ม.ค.68 บังคับใช้มาตรฐานหม้อแปลงใหม่ แบบไหนบ้างต้องเปลี่ยนใช้เกณฑ์ล่าสุด

2024-11-22 HaiPress

สมอ. ทบทวนมาตรฐานหม้อแปลงไฟฟ้า เตรียมประกาศใช้ 5 ม.ค. 68 แบบไหนบ้างต้องใช้เกณฑ์ใหม่ แบบไหนบ้างไม่คลอบคลุม "เอกนัฏ" สั่งทบทวนมาตรฐานที่ประกาศใช้ 5 ปีขึ้นไป มองเริ่มตกยุคไม่เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ย้ำเพื่อความปลอดภัยผู้บริโภคสูงสุด

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งกำหนดมาตรฐาน รวมทั้งทบทวนมาตรฐานที่มีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่มีอายุมากกว่า 5 ปี เช่น มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับกระบวนการผลิตในปัจจุบัน โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้นำมาตรฐานไปใช้ยกระดับคุณภาพสินค้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้หน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรง ได้นำมาตรฐานไปใช้ในการอ้างอิงในการปฏิบัติงาน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น

โดยมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ สมอ. แก้ไขเรียบร้อยแล้ว และกำลังจะมีผลใช้งานตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2568 เป็นต้นไป คือ มาตรฐาน “หม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เปลี่ยนกระแสไฟเพื่อให้เหมาะสมกับระบบส่งกำลังไฟฟ้า มีความสำคัญที่สุดในบรรดาอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมด เพราะหากหม้อแปลงไฟฟ้าเกิดการขัดข้องหรือชำรุดเสียหาย จะส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟของประชาชน และกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งการทบทวนมาตรฐานดังกล่าวในครั้งนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และเป็นการเปิดโอกาสทางการค้าในตลาดต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทยมากยิ่งขึ้น

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า สมอ. ได้ประกาศใช้มาตรฐานหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมาตั้งแต่ปี 2524 และได้มีการทบทวนมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศใช้ครั้งที่ 2 ปี 2543 และครั้งที่ 3 ปี 2567 ที่จะมีผลใช้งานในวันที่ 5 มกราคม 2568 นี้ การทบทวนมาตรฐานในครั้งนี้ เพื่อให้ทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน โดยการอ้างอิงตามมาตรฐาน IEC และแก้ไขขอบข่ายให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้มีคุณลักษณะตามมาตรฐานสากล และสามารถนำไปใช้งานร่วมกับมาตรฐานด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ครอบคลุมหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้งานภายในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงงานอุตสาหกรรม และอาคารสถานที่ต่าง ๆ ฯลฯ

แต่ไม่ครอบคลุมหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดเล็กที่เคลื่อนที่ได้ เช่น หม้อแปลงติดตั้งบนเครื่องฉุดลาก หม้อแปลงสำหรับงานเหมือง หรือหม้อแปลงไฟฟ้าสำหรับใช้งานในน้ำ เป็นต้น และมีการแก้ไขข้อกำหนดในสภาวการณ์ใช้งานให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดจากอุณหภูมิแวดล้อม รวมทั้งแก้ไขมาตรฐานวิธีการทดสอบให้สอดคล้องกับวิธีทดสอบตามมาตรฐานสากลด้วย

สำหรับการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในการนำมาตรฐานไปใช้ สมอ. ได้เชิญผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 200 ราย เช่น การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมโรงงานอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการ เข้าร่วมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ในวันที่ 21 พ.ย. 67 เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในข้อกำหนดของมาตรฐานหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังฉบับใหม่ มอก. 384 เล่ม 1-2567 และการตรวจติดตามภายหลังได้รับใบอนุญาต รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการยื่นขอรับการรับรองตามมาตรฐานดังกล่าว ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น เลขาธิการ สมอ. กล่าว

Three phase high voltage power transformer on electrical pole for industrial use. concept power and energy

Power Transformer in High Voltage Electrical Outdoor Substation

คำปฏิเสธ

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 กรุงเทพพาณิชย์รายวัน    ติดต่อเรา SiteMap