ติดต่อเราSiteMap

สสว.เปิดบทวิเคราะห์ ‘ทรัมป์’กลับมาครั้งนี้ โอกาส หรือ หายนะ เอสเอ็มอีไทย

2024-11-18 HaiPress

"ปณิตา ชินวัตร" รักษาการผอ.สสว. เปิดบทวิเคราะห์การกลับมาของทรัมป์ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาส หรือหายนะสำหรับเอสเอ็มอีไทยกันแน่!

น.ส.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิเผยถึงนโยบายทรัมป์รอบใหม่ โอกาสหรือหายนะสำหรับ SME ไทย เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง โลกอาจเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่มีใครคาดคิด โดยเฉพาะตลาดการค้าและธุรกิจ SME ไทย ที่ต้องจับตามองว่าจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้อย่างไร ความร้อนแรงของนโยบายทรัมป์จะนำไปสู่ทิศทางไหน และ SME ไทยจะสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้หรือไม่ มาดูบทวิเคราะห์แต่ละประเด็น ได้ดังนี้

1. สงครามการค้า 2.0: ใครได้ ใครเสีย?

เมื่อทรัมป์ประกาศเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 60% และประเทศอื่นๆ 10-20% ส่งผลให้ SME ไทยอาจมีโอกาสก้าวสู่ตลาดสหรัฐฯ ในฐานะผู้ทดแทนสินค้าจากจีนมากขึ้น แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ จีนจะหันมาลงทุนในไทย และใช้ฐานการผลิตที่นี่ส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ SME ไทยต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะในระยะยาว หากสินค้าจีนไม่สามารถส่งไปสหรัฐฯ ได้ และหันมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต สหรัฐฯอาจจับตาและอาจขึ้นภาษีสินค้าจากไทย หรือให้ไทยติด Black List ซึ่งจะทำให้ตลาดส่งออกของ SME จะได้รับผลกระทบมหาศาล หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว SME ไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรงเนื่องจากตลาดสหรัฐมีความสำคัญมาก โดยสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของ SME ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 SME ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ 5,492.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 59.7% นับเป็นตลาดส่งออกสำคัญลำดับที่ 3 ของ SME รองจากจีน และอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 13.5% ของมูลค่าส่งออกรวมไปยังสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของ SME ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ อุปกรณ์โทรศัพท์และสมาร์ทโฟน โซล่าร์เซลล์ และอุปกรณ์โซล่าร์เซลล์ หม้อแปลงไฟฟ้า อุปกรณ์สำหรับเครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์

2. การเปลี่ยนแปลงในกระแสการลงทุน: สหรัฐดึงบริษัทกลับบ้าน ไทยจะเสียเปรียบหรือไม่?

นโยบายดึงดูดการลงทุนกลับสู่สหรัฐฯ โดยใช้มาตรการจูงใจทางภาษี อาจทำให้บริษัทต่างๆ หันไปลงทุนในอเมริกาแทนการลงทุนในไทย สิ่งนี้อาจลดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทย แต่เทคโนโลยีที่ต้องการโครงสร้างพื้นฐาน และต้นทุนที่ต่ำของไทย ยังอาจทำให้ไทยน่าสนใจในสายตานักลงทุนบางกลุ่ม ซึ่ง SME ไทยควรจับกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ในระยะสั้นการย้ายฐานการผลิตขนาดใหญ่ของธุรกิจเทคโนโลยีจากเอเชียไปยังสหรัฐฯ ยังคงไม่น่าเกิดขึ้นง่ายๆ เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ค่าแรงงาน ปัจจัยการผลิต และโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยกว่าในเอเชีย

3. ปัญหานโยบายสีเขียวกับภาคอุตสาหกรรมไทย: โอกาสและความท้าทายที่กำลังมา

การที่ทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลง Paris Agreement และการชะลอร่างกฎหมาย Clean Competition Act ของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้ SME ไทยได้รับอานิสงค์จากนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจขนส่ง รวมถึงเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ทั้งนี้ในอนาคต ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปค และการเจรจาต่อรองระหว่างผู้ค้าน้ำมันโลก สำหรับมาตรการสีเขียว การที่สหรัฐฯ จะยกเลิกการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศของโลก เช่น ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อการลดลงของผลผลิตทางเกษตร รวมถึงสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งในระยะสั้นอาจเป็นผลดีต่อ SME ไทย อาจชะลอการลงทุนในการปรับตัว เพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว แต่ในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อการผลักดันเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของไทยในระยะถัดไป อีกทั้งยังส่งผลต่อการค้าในบางตลาดหรือคู่ค้าที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น สภาพยุโรป และประเทศที่มุ่งเน้นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และหากการเมืองสหรัฐเปลี่ยนขั้วอีกครั้งก็จะมีผลทำให้ SME ปรับตัวไม่ทันหากยังคงไม่เริ่มดำเนินการ

4. การเมืองโลกที่ร้อนแรง: ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต SME ไทย

การสนับสนุนอิสราเอลอย่างเด่นชัดของประธานาธิบดี ทรัมป์ อาจเป็นการยกระดับความรุนแรงของการต่อสู้ในตะวันออกกลาง ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น ซึ่งตะวันออกกลางเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตน้ำมันดิบของโลก สิ่งนี้อาจทำให้เกิดการหยุดการผลิตน้ำมันดิบที่ได้รับผลจากการสงครามดังกล่าว ส่งผลต่อปริมาณและราคาน้ำมันดิบ ซึ่งทำให้ต้นทุน SME ไทยในภาคการผลิตและขนส่งจะต้องรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อยอดขายของ SME ไทย โดยเฉพาะในภาคการค้าและบริการ รวมทั้งยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรอีกด้วย ด้วยกระแสการเมืองนี้จึงเป็นความเสี่ยงที่ SME ไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับตัวกับภาระต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

5. การท่องเที่ยวไทยกับโลก: ความกังวลและความไม่แน่นอน ไทยจะยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมได้หรือไม่?

หากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและตะวันออกกลางขยายตัว นโยบายที่ค่อนข้างแข็งกร้าวของประธานาธิบดี ทรัมป์ อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาพของเศรษฐกิจโลก หากนำนโยบายดังกล่าวมาใช้หลังจากเข้ารับตําแหน่งตามที่ได้ประกาศไว้ จะทำให้ผู้คนทั่วโลกระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เกิดการชะลอการใช้จ่ายและความกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการท่องเที่ยวทั้งของโลก และของไทย อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่น่าสนใจอันดับต้นของโลก และคาดว่าจะยังคงทรงตัวจากนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูงและกลุ่มนักลงทุน รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวที่ช่วยพยุงรายได้จากภาคการท่องเที่ยวของไทย

บทวิเคราะห์นี้แสดงให้เห็นว่า เอสเอ็มอีไทยต้องมีการเตรียมความพร้อมและติดตามกระแสโลกอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างกลยุทธ์รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของนโยบายสหรัฐฯ เพราะโอกาสและความเสี่ยงอาจเกิดขึ้นพร้อมกัน หากปรับตัวได้เร็ว ธุรกิจไทยอาจเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสและเติบโตได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

คำปฏิเสธ

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 กรุงเทพพาณิชย์รายวัน    ติดต่อเรา SiteMap