ติดต่อเราSiteMap

ภูมิธรรม คุยทูตจีน แก้ปัญหาสินค้าราคาถูกบุกไทย ชงตั้งคณะกรรมการ ฉก.ดูแล

2024-08-22 HaiPress

“ภูมิธรรม” เผยคุยทูตจีน แก้ปัญหาสินค้าราคาถูก ไร้มาตรฐานบุกไทยแล้ว เตรียมเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน หารืออย่างเป็นทางการ หาแนวทางป้องกัน พร้อมตั้งคณะกรรมการดูแลเป็นการเฉพาะ เตรียมเสนอให้ครม.เห็นชอบภายในเดือนส.ค.นี้

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูก ไร้มาตรฐาน ว่า ตนได้หารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และทูตพาณิชย์จีนในไทย เกี่ยวกับสินค้าที่ทะลักเข้ามาผ่านช่องทางต่างๆ เช่น แอปพลิเคชัน Temu แล้ว ซึ่งฝ่ายจีน รับจะดูแลและเจรจาให้ โดยสินค้าใดที่มีปัญหาเกิดขึ้นจากแพลตฟอร์มดังกล่าว ก็ให้ฝ่ายจีนเป็นคนประสานงานและแก้ปัญหาให้ สำหรับแอปดังกล่าว หากจะทำธุรกิจในไทย ก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายไทย ซึ่งท่านทูตจีนก็เห็นด้วย และรับจะไปเจรจาให้

“แพลตฟอร์มต่างชาติเข้ามา เราไม่สามารถห้ามไม่ให้คนอุดหนุนได้ เพราะราคาถูก เป็นความท้าทายของผู้ประกอบการ ต้องปรับตัว ทำสินค้าคุณภาพ ลดต้นทุน และส่งออกไปต่างประเทศ รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการทั้งด้านเงินทุนและกฎระเบียบ รวมทั้ง จากนี้เราต้องไม่แข่งขันด้านราคา สินค้าไทยมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และผลไม้ และเรายังมีศิลปวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมด้วย”

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลไทย ก็ต้องคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศอย่างเต็มที่ หลังจากนี้ ตนจะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มาร่วมประชุมอย่างเป็นทางการ โดยมีตนเป็นประธาน เพื่อรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะ และอาจตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ซึ่งตนจะเร่งหารือให้ได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือเบื้องต้นกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นต้น เพื่อหาช่องทางแก้ปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูก ไร้มาตรฐานจากต่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตของไทย

ทั้งนี้ มีการมอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศ ไปดูรายละเอียดของการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) มอบกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปดูเรื่องการจดทะเบียนนิติบุคคล กระทรวงการคลัง ดูเรื่องการเสียภาษี กระทรวงอุตสาหกรรม ดูเรื่องมาตรฐานสินค้า กระทรวงสาธารณสุข ดูเรื่องมาตรฐานอาหาร อาหารเสริม ยา เป็นต้น

“ในเบื้องต้น เท่าที่ทำได้ คือ  ใช้มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการทางภาษี โดยต้องติดตามสินค้าที่เข้ามาว่า มีการจดทะเบียนหรือไม่จ่ายภาษีหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการอย่างชัดเจน เข้มข้น ไปจัดการสินค้าและโรงงานเปิดถูกต้องไหม หากจะใช้กฎหมาย ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) แต่ผู้ประกอบการไทยก็ต้องเพิ่มศักยภาพตัวเองด้วย เพื่อให้การแข่งขันได้”

คำปฏิเสธ

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 กรุงเทพพาณิชย์รายวัน    ติดต่อเรา SiteMap