2024-07-13 HaiPress
“เศรษฐา” สั่งเร่งปฏิบัติการแผนฮาลาล 4 ปี (67-70) วางกรอบใช้งบ 1,230 ล้านบาท ควิกวินโครงการระยะแรก 95 ล้านบาท ยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลของอาเซียน หวังปั่นจีดีพีโต 1.2% คิดเป็นมูลค่า 55,000 ล้านบาท จ้างงานเพิ่ม 1 แสนตำแหน่งต่อปี
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมครั้งแรก ว่า ที่ประชุมเห็นชอบความคืบหน้าในการดำเนินงานและงบประมาณการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย และร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ4ปี (ปี 67-70) ซึ่งมีวิสัยทัศน์มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลของอาเซียน ภายในปี 70ตอบโจทย์นโยบายIGNITE THAILANDที่ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหาร
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย
สำหรับแผนปฏิบัติการฉบับนี้ มีเป้าหมายที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ของภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 1.2% คิดเป็นมูลค่า 55,000 ล้านบาท และสร้างงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1 แสนตำแหน่งต่อปี นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำว่ารัฐบาลจะผลักดันการจัดตั้งไทยแลนด์ ฮาลาล วัลเลย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ
นายเศรษฐา กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยจะช่วยสร้างการรับรู้และการยอมรับผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและบริการ ตลอดจนธุรกิจไมซ์ นอกจากนี้ ยังเป็นการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ลดข้อจำกัด แก้ไขระเบียบ และบูรณาการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฮาลาล โดยได้มอบหมายให้ นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย รับผิดชอบภารกิจการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยไปสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหา การเจรจาเพื่อลดอุปสรรคจากกฎระเบียบและมาตรการทางการค้ากับประเทศคู่ค้า เพื่อให้เข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพทั้งตลาดเดิมและตลาดใหม่ๆ
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า แผนปฏิบัติการฯ ได้วางกรอบใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,230 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตฮาลาไทย การพัฒนาการผลิตได้มาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย และการยกระดับปัจจัยแวดล้อมอุตสาหกรรมฮาลาลไทย โดยมีโครงการที่เป็นควิกวิน(ปี 67-68) ใช้งบประมาณ 95 ล้านบาท ในการดำเนินงาน ได้แก่ สร้างการรับรู้ศักยภาพสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทย การขยายตลาดสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทยในประเทศและต่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย และการจัดทำระบบHalal IUซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลรายงานเชิงลึกและวิเคราะห์ตลาด เป็นต้น
ขณะเดียวกันได้กำหนดผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมาย (ระยะแรก) ไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่1.อาหารฮาลาล เช่น เนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป อาหารทะเล อาหารพร้อมรับประทาน อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ และอาหารมุสลิมรุ่นใหม่ 2.แฟชั่นฮาลาล ได้แก่ สิ่งทอ อัญมณี เครื่องหนัง 3.ยา สมุนไพร เครื่องสำอางฮาลาล 4.โกโก้และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง 5.บริการและการท่องเที่ยวฮาลาล โดยจะนำร่างแผนปฏิบัติการฯ เสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
“มูลค่าของตลาดการค้าอาหารฮาลาลโลกในปี 67 อยู่ที่ 2.60 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5.28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 73 หรือเพิ่มขึ้น 12.5% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมโลกและการขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศมุสลิม นับเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยต้องเข้าไปมีส่วนร่วม” น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าว
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ข้อมูลว่า ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสร้างกลไกสนับสนุนEcosystemของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับมาตรฐานสินค้าฮาลาลและมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการค้าผ่านการขยายตลาดการค้าสินค้าและบริการฮาลาล ทั้งในและระหว่างประเทศ รวมถึงทำหน้าที่เป็นNational Focal Pointในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ
ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ศูนย์ฯ จะทำหน้าที่แก้ปัญหาอุปสรรค อำนวยความสะดวก ให้คำปรึกษา แนะนำ พร้อมทั้งให้บริการด้านข้อมูลสารสนเทศแก่ผู้ประกอบการฮาลาลอย่างครบวงจร นอกจากนี้ ยังจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการฮาลาลไทย เช่น การพัฒนาสินค้าและบริการฮาลาล การพัฒนาโลจิสติกส์ฮาลาล และนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล
ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย มีการพัฒนาศักยภาพ สร้างงาน สร้างอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ และสามารถเข้าถึงตลาดในไทยและตลาดโลกได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและทั่วถึง